บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โตโยต้า อแวนซา รุ่นใหม่ สเปค ราคา


โตโยต้า อแวนซา รุ่นใหม่ สเปค ราคา
       สำหรับ“อแวนซา” เป็นมินิเอ็มพีวีราคาประหยัดที่นำเข้ามาจากอินโดนีเซีย โดยโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เดินตามนโยบายบริษัทแม่ที่ต้องการแลกเปลี่ยนรถ ส่งออกขายกระจายทั่วภูมิภาค
โมเดลแรกเปิดตัวในไทยเดือน กรกฎาคม 2547 และอย่างที่รู้กันว่า“อแวนซา” ไม่ค่อยได้การตอบรับมากนัก ด้วยลักษณะ-คุณภาพการประกอบ ตลอดจนสมรรถนะการขับขี่ ยิ่งวางเครื่องยนต์เบนซิน 1.3 ลิตร บนช่วงล่างกระด้าง แถมโยนเด้งเหมือนควบม้า จึงตอกย้ำภาพชัดเจนว่า คนไทยไม่เอาเอ็มพีวีจากอินโดนีเซีย แม้ราคาจะน่าคบหาก็ตาม
         วันเปลี่ยนเวลาผ่าน โตโยต้าพยายามลบจุดด้อยที่ไม่โดนใจเรื่อยมา และเปิดรุ่นไมเนอร์เชนจ์ วางเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 109 แรงม้า พร้อมปรับปรุงช่วงล่างใหม่ให้นุ่มนวลขึ้น ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้ลองขับรุ่นดังกล่าวเช่นกัน     ล่าสุดกับรุ่นโมเดลเชนจ์ เพิ่งเปิดตัวช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา น่าสนใจว่า “อแวนซา” เจเนอเรชันที่สอง จะพัฒนาขึ้นไปขนาดไหน?
   
 สำหรับ “อแวนซา ใหม่” แบ่งการขายเป็น 3 รุ่นย่อย คือ 1.5 E เกียร์ธรรมดา ราคา 569,000 บาท 1.5 G เกียร์อัตโนมัติ 659,000 บาท และรุ่นท็อปที่ผู้เขียนได้ลอง1.5 S เกียร์อัตโนมัติ ราคา 699,000 บาท
ด้านตัวถังแม้ดูไม่ใหญ่กว่าเดิม แต่ก็หล่อคมขึ้นทุกมิติ ทั้งโคมไฟหน้า-หลัง กระจัง กันชน ลายล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว พร้อมสปอยเลอร์หลังคาฝังไฟเบรกดวงที่สามแบบ LED ขณะที่รุ่นท็อป 1.5S จะมีสเกิร์ตข้างติดมาให้   ในรุ่น 1.5S ยังได้ออปชันอย่าง ปุ่มควบคุมเครื่องเสียงฝังที่พวงมาลัย เซ็นเซอร์กะระยะถอยหลัง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า เหนือกว่าในรุ่น 1.5G มีลูกเดียวฝั่งคนขับ ขณะที่รุ่นล่าง 1.5E เกียร์ธรรมดา ไม่มีทั้งถุงลม และระบบเบรก ABS และ กระจายแรงเบรกEBD
     
         เมื่อเข้าไปนั่งตำแหน่งคนขับ กับเบาะผ้าที่ปรับระยะเลื่อนหน้า-ถอยหลัง แต่ปรับระดับสูงต่ำไม่ได้ ที่สำคัญขนาดเบาะค่อนข้างเล็ก แถมหมอนรองหัวสั้น คือผู้เขียนลองดันขึ้นมาสุดแล้ว แต่ระดับยังถึงแเค่ท้ายทอย รองรับได้ไม่เต็มหัว   มุมมองด้านหน้าโปร่งชัด แต่กระจกมองข้างบานเล็กไปนิด แผงคอนโซลหน้า ตลอดจนพวงมาลัย คันเกียร์ดูทันสมัยมากขึ้น พร้อมวัสดุและการประกอบตามจุดต่างๆ ดูเนียนตากว่ารุ่นเก่า ขณะเดียวกันยังมีช่องเก็บของรวม 20 จุด และวางแก้วน้ำอีก 14 จุด
ด้านชุดเครื่องเสียงเล่น วิทยุ ซีดี เอ็มพี3 ได้ 1 แผ่น มีช่องต่อ AUX และ USB รอให้เสียบอยู่ใกล้ๆคันเกียร์ โดยคุณภาพเสียงที่ขับผ่านลำโพง 4ตัวค่อนข้างดี แต่ดันซวยที่ต้องมาแบกภาระกับรถที่เก็บเสียงค่อนข้างแย่ ทั้งเสียงการจราจรภายนอก เสียงลมปะทะ และเสียงเครื่องยนต์
 
 ส่วนเบาะนั่งที่ว่าเล็กๆรองรับไม่เต็มสรีระ(คนตัวใหญ่) พอขับจริงๆก็ไม่อึดอัด หรือขับทางไกลไม่ปวดหลัง ขณะที่เบาะแถวสองกว้างนั่งสบาย เลื่อนหน้า-ถอยหลังได้ 60 มิลลิเมตร พร้อมช่องแอร์บนแผงหลังคา ซึ่งผู้โดยสารสามารถปรับความแรงลมเองได้
 สำหรับเบาะนั่งแถว 3 อาจเล็กแคบตามสไตล์ ดูแล้วคุณผู้หญิงตัวเล็กหรือเด็กน้อย น่าจะพอไหวกับตำแหน่งนี้ แต่กระนั้นถ้าไม่มีผู้โดยสาร ก็สามารถพับเก็บและดันให้ขึ้นไปชนกับเบาะนั่งแถวสอง เพื่อเพิ่มพื้นที่การเก็บสำภาระได้
    เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตร VVT-i ปรับกำลังลงมาเหลือ 101 แรงม้า เพื่อผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ ยูโร4 ของเมืองไทย ซึ่งการขับจริงพร้อมผู้โดยสารอีก 2 คน และสัมภาระเต็มลำ การออกตัวยังทำได้ทันใจ มีแรงพุ่งเดินหน้า ขณะที่อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ประมาณ 12 วินาที ถือว่าไม่ขี้เหร่กับการเป็นรถอเนกประสงค์
      การขับในเมืองคล่องตัวอย่างยอดเยี่ยม ส่วนหนึ่งต้องชมพวงมาลัยผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า (เดิมไฮดรอลิก) สั่งงานแม่นยำ น้ำหนักไม่เบามือจนหวิวเหมือนพวก ยาริส วีออส ขณะเดียวกันการขับความเร็วสูง พวงมาลัยยังนิ่ง ช่วยให้การขับขี่มั่นใจ
อย่างไรก็ตามเมื่อออกนอกเมืองใช้ความเร็วสูง เครื่องยนต์และเกียร์อัตโนมติ 4 สปีด ดูจะทำงานหนักมากขึ้น โดยการเร่งแซงในย่านความเร็ว 60-100 กม./ชม. ต้องอาศัยจังหวะคิกดาวน์บ่อยครั้ง หรือเร่งรอบขึ้นไป 4,000 -5,000 รอบโน้นละครับ ถึงจะมีพละกำลังฉุดดึง
 ทั้งนี้การเซ็ตอัตราทดเฟืองท้ายไว้จัดถึง 5.125 หวังให้การออกตัวคล่องแคล่ว แต่การขับทางยาวๆ จะเห็นว่า“อแวนซา ใหม่” มีรอบเครื่องยนต์สูง ซึ่งความเร็ว 100 กม./ชม. ที่เกียร์สูงสุดก็ทะลุ 3,000 รอบเข้าไปแล้ว              …ต้องเลือกครับม้า 101 ตัว จะให้ลงตอนไหนเพื่อตอบสองการขับขี่สูงสุดและคำนึงถึงอัตราบริโภคน้ำมันไว้ด้วย
 อย่างการขับในทริปนี้ที่ฝ่ารถติดในเมือง มุ่งออกไปอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี โดยทางยาวๆผู้เขียนใช้ความเร็วเฉลี่ย 120-130 กม./ชม. สุดท้ายหน้าจอดิจิตอลยังแสดงผล13.2 กม./ลิตร ขณะที่โตโยต้าเคลมตัวเลขเฉลี่ยไว้ 12.6 กม./ลิตร
 ในส่วนช่วงล่างยึดโครงสร้างด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง หลังเป็นคานแข็ง พร้อมโช้กอัพและคอยสปริง ยังมีอาการสะเทือนแข็งอยู่นิดๆ แต่ก็ถือว่าน้อยกว่ารุ่นเดิมเยอะ เช่นเดียวกับอาการโคลงตัวเมื่อใช้ความเร็วสูง และการเปลี่ยนเลนกะทันหัน
 โดยวิศวกรโตโยต้าเปลี่ยนมาใช้สปริงที่สั้นลง ส่งผลให้ตัวรถมีระยะต่ำสุดจากพื้น (Ground Clearance) ลดเป็น 185 มิลลิเมตร ขณะเดียวกันยังปรับค่าความหนืดของโช้กอัพ โดยยืดระยะการคืนตัวให้ช้าลง ทั้งหลายทั้งปวงส่งผลให้โครงสร้างกันสะเทือนของ “อแวนซา ใหม่” ประนีประนอมกับทางแย่ๆมากขึ้น ขณะที่การโยนตัวในโค้งแม้จะมีบ้างตามลักษณะกายภาพของรถ แต่รวมๆแล้วทรงตัวดีกว่ารุ่นเก่า
ด้านประสิทธิภาพของเบรกหน้าดิสก์หลังดรัม ปรับให้การตอบสนองดีขึ้น กล่าวคือระยะเบรกจากความเร็ว 100 กม./ชม.ลงมาถึงจุดหยุดนิ่ง 47.50 เมตร สั้นกว่าโมเดลเดิมที่ทำได้ 57.27 เมตร อย่างไรก็ตามความรู้สึกของการกดแป้นเบรกยังออกแนวแข็งทื่อไปนิด และต้องปรับความรู้สึกกับระยะเบรกพอสมควร
   รวบรัดตัดความ…ใครกำลังมองหารถอเนกประสงค์แบบเอ็มพีวี (MPV – Multi Purpose Vehicle) ดูเหมือน“อแวนซา” จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดแล้ว โดยให้อรรถประโยชน์หลากหลาย ราคาเอื้อมถึงได้ พร้อมความทนทานสไตล์รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง ประกอบกับรุ่นใหม่นี้ยังปรับช่วงล่างให้ขับขี่สบายและเสถียรภาพการทรงตัวดีขึ้นอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น